เจาะลึกงานเขียนของประยูร อุลุชาฎะ หรือ น. ณ ปากน้ำ จากหนังสืออาหารรสวิเศษของคนโบราณ ในตำราได้กล่าวถึงผัดกะเพราว่า เมนูนี้เป็นที่นิยมมาตั้งแต่สมัยก่อน น่าจะถือกำเนิดขึ้นราวสมัยรัชกาลที่ 7 เพราะคนจีนนำเอามาขายในร้านอาหารตามสั่ง แต่คาดว่าผัดกะเพราน่าจะเพิ่งนิยมราว พ.ศ. 2500 สมัยนั้นคนไทยนิยมรับประทานอาหารที่มีรสชาติเผ็ดร้อนและจัดจ้าน มีการผสมผสานเครื่องเทศกับผักที่มีกลิ่นชนิดต่าง ๆ นำมาประกอบอาหารเป็นประเภทผัดเผ็ดหรือแกงป่า เนื่องจากในยุคนั้นประเทศไทยยังไม่ค่อยมีอาหารประเภทผัดมากนัก
ต่อมาได้มีชาวจีนเดินทางเข้ามาในประเทศไทย จึงได้มีการดัดแปลงวัตถุดิบบางอย่าง โดยการใช้เต้าเจี้ยวดำผัดกับกระเทียม พริก ใบกะเพรา และเนื้อสัตว์ รับประทานกับข้าวสวยร้อน ๆ พร้อมไข่ดาว ช่วยทำให้อาหารมีรสชาติดีขึ้น จึงกลายเป็นสูตรเต้าเจี้ยวผัดกระเทียมใส่พริกและกะเพรา อร่อยเป็นอย่างมาก จนกระทั่งอาหารชนิดนี้ได้รับความแพร่หลาย คนไทยได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการผัดที่ไม่ใส่เต้าเจี้ยว แต่ยังคงไว้ซึ่งการใช้พริก กระเทียม และใบกะเพราไว้เหมือนเดิม พร้อมการใส่เนื้อสัตว์ต่าง ๆ ลงไป เพื่อให้ได้ความอร่อยและคุณค่าทางสารอาหารที่เพิ่มมากขึ้น และกลายมาเป็นข้าวผัดกระเพราที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน